กิเลส กรรม และวิบากกรรม

ภิกษุ ท. ! เหตุทั้งหลาย ๓ ประการเหล่านี้ มี
อยู่ เพื่อความเกิดขึ้นแห่งกรรมทั้งหลาย.
๓ ประการเหล่าไหนเล่า ?
๓ ประการ คือ
โลภะ (ความโลภ) เป็นเหตุเพื่อความเกิดขึ้นแห่ง
กรรมทั้งหลาย,

โทสะ (ความคิดประทุษร้าย) เป็นเหตุเพื่อความ
เกิดขึ้นแห่งกรรมทั้งหลาย,

โมหะ (ความหลง) เป็นเหตุเพื่อความเกิดขึ้นแห่ง
กรรมทั้งหลาย.

ภิกษุ ท. ! เปรียบเหมือนเมล็ดพืชทั้งหลาย ที่
ไม่แตกหัก ที่ไม่เน่า ที่ไม่ถูกทำลายด้วยลมและแดด
เลือกเอาแต่เม็ดดี เก็บงำไว้ดี อันบุคคลหว่านไปแล้วใน
พื้นที่ซึ่งมีปริกรรมอันกระทำดีแล้ว ในเนื้อนาดี. อนึ่ง
สายฝนก็ตกต้องตามฤดูกาล.

ภิกษุ ท. ! เมล็ดพืชทั้งหลายเหล่านั้น จะพึงถึง
ซึ่งความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์โดยแน่นอน, ฉันใด ;

ภิกษุ ท. ! ข้อนี้ก็ฉันนั้น คือ กรรมอันบุคคล
กระทำแล้วด้วยโลภะ เกิดจากโลภะ มีโลภะเป็นเหตุ
มีโลภะเป็นสมุทัย อันใด ; กรรมอันนั้น ย่อมให้ผลใน
ขันธ์ทั้งหลาย อันเป็นที่บังเกิดแก่อัตตภาพของบุคคลนั้น.
กรรมนั้นให้ผลในอัตตภาพใด เขาย่อมเสวยวิบากแห่ง
กรรมนั้น ในอัตตภาพนั้นเอง ไม่ว่าจะเป็นไปอย่างใน
ทิฏฐธรรม (คือทันควัน) หรือว่า เป็นไปอย่างในอุปปัชชะ
(คือในเวลาต่อมา) หรือว่า เป็นไปอย่างในอปรปริยายะ (คือ
ในเวลาต่อมาอีก) ก็ตาม.

กรรมอันบุคคลกระทำแล้วด้วยโทสะ เกิดจาก
โทสะ มีโทสะเป็นเหตุ มีโทสะเป็นสมุทัย อันใด ;
กรรมอันนั้น ย่อมให้ผลในขันธ์ทั้งหลายอันเป็นที่บังเกิด
แก่อัตตภาพของบุคคลนั้น. กรรมนั้น ให้ผลในอัตตภาพใด
เขาย่อมเสวยวิบากแห่งกรรมนั้น ในอัตตภาพนั้นเอง ไม่ว่า
จะเป็นไปอย่างในทิฏฐธรรม หรือว่า เป็นไปอย่างใน
อุปปัชชะ หรือว่า เป็นไปอย่างในอปรปริยายะ ก็ตาม.

กรรมอันบุคคลกระทำแล้วด้วยโมหะ เกิดจาก
โมหะ มีโมหะเป็นเหตุ มีโมหะเป็นสมุทัยอันใด ; กรรม
อันนั้น ย่อมให้ผลในขันธ์ทั้งหลาย อันเป็นที่บังเกิด
แก่อัตตภาพของบุคคลนั้น. กรรมนั้น ให้ผลในอัตตภาพใด
เขาย่อมเสวยวิบากแห่งกรรมนั้น ในอัตตภาพนั้นเอง ไม่ว่า
จะเป็นไปอย่างในทิฏฐธรรม หรือว่า เป็นไปอย่างใน
อุปปัชชะ หรือว่า เป็นไปอย่างในอปรปริยายะ ก็ตาม.

ภิกษุ ท. ! เหตุทั้งหลาย ๓ ประการ เหล่านี้แล
เป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นแห่งกรรมทั้งหลาย.

การกระทำกรรมที่เป็นไปเพื่อการสิ้นกรรม

ภิกษุ ท. ! เหตุทั้งหลาย ๓ ประการ เหล่านี้
มีอยู่ เพื่อความเกิดขึ้นแห่งกรรมทั้งหลาย.
๓ ประการ เหล่าไหนเล่า ?
๓ ประการ คือ

อโลภะ (ความไม่โลภ) เป็นเหตุเพื่อความเกิดขึ้น
แห่งกรรมทั้งหลาย,

อโทสะ (ความไม่คิดประทุษร้าย) เป็นเหตุเพื่อ
ความเกิดขึ้นแห่งกรรมทั้งหลาย,

อโมหะ (ความไม่หลง) เป็นเหตุเพื่อความเกิดขึ้น
แห่งกรรมทั้งหลาย.

ภิกษุ ท. ! เปรียบเหมือนเมล็ดพืชทั้งหลาย ที่ไม่
แตกหัก ที่ไม่เน่า ที่ไม่ถูกทำลายด้วยลมและแดด เลือก
เอาแต่เม็ดดี เก็บงำไว้ดี. บุรุษพึงเผาเมล็ดพืชเหล่านั้น
ด้วยไฟ ครั้นเผาด้วยไฟแล้ว พึงกระทำให้เป็นผงขี้เถ้า ;
ครั้นกระทำให้เป็นผงขี้เถ้าแล้ว พึงโปรยไปในกระแสลม
อันพัดจัด หรือว่าพึงลอยไปในกระแสน้ำอันเชี่ยวในแม่น้ำ.
เมล็ดพืชทั้งหลายเหล่านั้นเป็นพืชมีมูลอันขาดแล้ว ถูก
กระทำให้เหมือนตาลมีขั้วยอดอันด้วน ทำให้ถึงความไม่มี
มีอันไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา โดยแน่นอน, นี้ฉันใด ;

ภิกษุ ท. ! กรรมอันบุคคลกระทำแล้วด้วยอโลภะ
เกิดจากอโลภะ มีอโลภะเป็นเหตุ มีอโลภะเป็นสมุทัย
อันใด ; เพราะปราศจากโลภะเสียแล้ว, ด้วยอาการอย่างนี้เอง
กรรมอันนั้น ย่อมเป็นกรรมอันบุคคลนั้นละขาดแล้ว มีราก
อันถอนขึ้นแล้ว ถูกกระทำให้เหมือนตาลมีขั้วยอดอันด้วน
ทำให้ถึงความไม่มี มีอันไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา.

ภิกษุ ท. ! กรรมอันบุคคลกระทำแล้วด้วยอโทสะ
เกิดจากอโทสะ มีอโทสะเป็นเหตุ มีอโทสะเป็นสมุทัย
อันใด ; เพราะปราศจากโทสะเสียแล้ว, ด้วยอาการอย่างนี้เอง
กรรมอันนั้น ย่อมเป็นกรรมอันบุคคลนั้นละขาดแล้ว มีราก
อันถอนขึ้นแล้ว ถูกกระทำให้เหมือนตาลมีขั้วยอดอันด้วน
ทำให้ถึงความไม่มี มีอันไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา.

ภิกษุ ท. ! กรรมอันบุคคลกระทำแล้วด้วยอโมหะ
เกิดจากอโมหะ มีอโมหะเป็นเหตุ มีอโมหะเป็นสมุทัย
อันใด ; เพราะปราศจากโมหะเสียแล้ว, ด้วยอาการอย่างนี้เอง
กรรมอันนั้น ย่อมเป็นกรรมอันบุคคลนั้นละขาดแล้ว มีราก
อันถอนขึ้นแล้ว ถูกกระทำให้เหมือนตาลมีขั้วยอดอันด้วน
ทำให้ถึงความไม่มี มีอันไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา.

ภิกษุ ท. ! เหตุทั้งหลาย ๓ ประการเหล่านี้แล
เป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นแห่งกรรมทั้งหลาย.

ติก. อํ. ๒๐/๑๗๑/๔๗๓.

0 ความคิดเห็น:

Post a Comment