อุปมาความทุกข์ในนรก

ภิกษุทั้งหลาย ! ลักษณะเครื่องหมาย เครื่องอ้าง
ว่าเป็นพาลของคนพาลนี้ มี ๓ อย่าง.
๓ อย่าง อย่างไรเล่า ?

ภิกษุทั้งหลาย ! คนพาลในโลกนี้
มักคิดความคิดที่ชั่ว
มักพูดคำพูดที่ชั่ว
มักทำการทำที่ชั่ว
ถ้าคนพาลจักไม่เป็นผู้คิดความคิดที่ชั่ว พูดคำพูด
ที่ชั่ว และทำการทำที่ชั่ว บัณฑิตพวกไหนจะพึงรู้จักเขาได้ว่า
ผู้นี้เป็นคนพาล เป็นอสัตบุรุษ เพราะคนพาลมักคิด
ความคิดที่ชั่ว มักพูดคำพูดที่ชั่ว และมักทำการทำที่ชั่ว
ฉะนั้น พวกบัณฑิตจึงรู้ได้ว่า นี่เป็นคนพาล เป็นอสัตบุรุษ.

ภิกษุทั้งหลาย ! คนพาลนั้นนั่นแล ย่อมเสวย
ทุกขโทมนัส ๓ อย่างในปัจจุบัน.

ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าคนพาลนั่งในสภาก็ดี ริมถนน
ก็ดี ริมทางสามแพร่งก็ดี ชนในที่นั้นๆ จะพูดถ้อยคำที่
พอเหมาะพอสมแก่เขา ถ้าคนพาลมักเป็นผู้ทำชีวิตสัตว์ให้
ตกล่วง มักถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ มักประพฤติผิด
ในกาม มักพูดเท็จ มีปกติตั้งอยู่ในความประมาทเพราะดื่ม
นํ้าเมาคือสุราและเมรัย ในเรื่องที่ชนพูดถ้อยคำที่พอเหมาะ
พอสมแก่เขานั้นแล คนพาลจะมีความรู้สึกอย่างนี้ว่า
ธรรมเหล่านั้นมีอยู่ในเรา และเราก็ปรากฏในธรรม
เหล่านั้นด้วย.

ภิกษุทั้งหลาย ! คนพาลย่อมเสวยทุกขโทมนัส
ข้อที่ ๑ ดังนี้ในปัจจุบัน.

ภิกษุทั้งหลาย ! ประการอื่นยังมีอีก คนพาลเห็น
พระราชาทั้งหลายจับโจรผู้ประพฤติผิดมาแล้ว สั่งลง
กรรมกรณ์ต่างชนิด คือ

(๑) โบยด้วยแส้บ้าง

(๒) โบยด้วยหวายบ้าง

(๓) ตีด้วยตะบองสั้นบ้าง

(๔) ตัดมือบ้าง

(๕) ตัดเท้าบ้าง

(๖) ตัดทั้งมือทั้งเท้าบ้าง

(๗) ตัดหูบ้าง

(๘) ตัดจมูกบ้าง

(๙) ตัดทั้งหูทั้งจมูกบ้าง

(๑๐) ลงกรรมกรณ์วิธี หม้อเคี่ยวน้ำส้ม บ้าง1

(๑๑) ลงกรรมกรณ์วิธี ขอดสังข์ บ้าง

(๑๒) ลงกรรมกรณ์วิธี ปากราหู บ้าง

(๑๓) ลงกรรมกรณ์วิธี มาลัยไฟ บ้าง

(๑๔) ลงกรรมกรณ์วิธี คบมือ บ้าง

(๑๕) ลงกรรมกรณ์วิธี ริ้วส่าย บ้าง

(๑๖) ลงกรรมกรณ์วิธี นุ่งเปลือกไม้ บ้าง

(๑๗) ลงกรรมกรณ์วิธี ยืนกวาง บ้าง

(๑๘) ลงกรรมกรณ์วิธี เกี่ยวเหยื่อเบ็ด บ้าง

(๑๙) ลงกรรมกรณ์วิธี เหรียญกษาปณ์ บ้าง

(๒๐) ลงกรรมกรณ์วิธี แปรงแสบ บ้าง

(๒๑) ลงกรรมกรณ์วิธี กางเวียน บ้าง

(๒๒) ลงกรรมกรณ์วิธี ตั่งฟาง บ้าง

(๒๓) ราดด้วยน้ำมันเดือดๆ บ้าง

(๒๔) ให้สุนัขทึ้งบ้าง

(๒๕) ให้นอนหงายบนหลาวทั้งเป็นๆ บ้าง

(๒๖) ตัดศีรษะด้วยดาบบ้าง

1. วิธีลงกรรมกรณ์ อ่านเพิ่มเติมได้ที่ท้ายบทนี้.

ในขณะที่เห็นนั้น คนพาลจะมีความรู้สึกอย่างนี้ว่า
เพราะเหตุแห่งกรรมชั่วปานใดแล พระราชาทั้งหลายจึง
จับโจรผู้ประพฤติผิดมาแล้วสั่งลงกรรมกรณ์ต่างชนิด คือ
โบยด้วยแส้บ้าง ... ตัดศีรษะด้วยดาบบ้าง ก็ธรรมเหล่านั้น
มีอยู่ในเรา และเราก็ปรากฏในธรรมเหล่านั้นด้วย ถ้าแม้
พระราชาทั้งหลายรู้จักเรา ก็จะจับเราแล้วสั่งลงกรรมกรณ์
ต่างชนิด คือ โบยด้วยแส้บ้าง ... ตัดศีรษะด้วยดาบบ้าง.

ภิกษุทั้งหลาย ! คนพาลย่อมเสวยทุกขโทมนัส
ข้อที่ ๒ แม้ดังนี้ในปัจจุบัน.

ภิกษุทั้งหลาย ! ประการอื่นยังมีอีก กรรมอันเป็น
บาปที่คนพาลทำไว้ในกาลก่อน คือ กายทุจริต วจีทุจริต
มโนทุจริต ย่อมปกคลุม ครอบงำคนพาลผู้อยู่บนตั่ง หรือ
บนเตียง หรือนอนบนพื้นดินในสมัยนั้น เปรียบเหมือน
เงายอดภูเขาใหญ่ ย่อมปกคลุม ครอบงำแผ่นดินในสมัย
เวลาเย็น ฉันใด.

ภิกษุทั้งหลาย ! ฉันนั้นเหมือนกันแล กรรมอันเป็น
บาปที่คนพาลทำไว้ในก่อน คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต
ย่อมปกคลุม ครอบงำคนพาลผู้อยู่บนตั่ง หรือบนเตียง
หรือนอนบนพื้นดินในสมัยนั้น.

ภิกษุทั้งหลาย ! ในสมัยนั้น คนพาลจะมีความรูสึ้ก
อย่างนี้ว่าเราไม่ได้ทำความดี ไม่ได้ทำกุศล ไม่ได้ทำเครื่อง
ป้องกันความหวาดกลัวไว้ ทำแต่ความชั่ว ทำแต่ความร้าย
ทำแต่ความเลว ละโลกนี้ไปแล้วจะไปสู่คติของคนที่ไม่ได้
ทำความดี ไม่ได้ทำกุศล ไม่ได้ทำเครื่องป้องกันความ
หวาดกลัวไว้ ทำแต่ความชั่ว ความร้าย และความเลว
เป็นกำหนด คนพาลนั้นย่อมเศร้าโศก ระทมใจ ครํ่าครวญ
ทุบอกร่ำไห้ ถึงความหลงใหลอยู่.

ภิกษุทั้งหลาย ! คนพาลย่อมเสวยทุกขโทมนัส
ข้อที่ ๓ แม้ดังนี้ในปัจจุบัน.

ภิกษุทั้งหลาย ! คนพาลนั้นนั่นแลประพฤติทุจริต
ทางกาย ทางวาจา ทางใจแล้วเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึง
อบาย ทุคติ วินิบาต นรก.

ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลเมื่อจะกล่าวให้ถูกต้อง
พึงกล่าวถึงนรกนั้นนั่นแหละว่า เป็นสถานที่ที่ไม่น่า
ปรารถนา ไม่น่ารักใคร่ ไม่น่าพอใจโดยส่วนเดียว.

ภิกษุทั้งหลาย ! เพียงเท่านี้แม้จะเปรียบอุปมา
ถึงความทุกข์ในนรก ก็ไม่ใช่ง่ายนัก.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! อาจเปรียบอุปมาได้หรือไม่ ?

ภิกษุทั้งหลาย ! อาจเปรียบได้.
ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนพวกราชบุรุษจับโจร
ผู้ประพฤติผิดมาแสดงแด่พระราชาว่า “ขอเดชะ ! ผู้นี้เป็น
โจรประพฤติผิดต่อพระองค์ ขอพระองค์โปรดลงอาชญาที่
ทรงพระราชประสงค์แก่มันเถิด” พระราชาทรงสั่งการนั้น
อย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ ! ไปเถิด พวกท่านจงเอาหอกร้อยเล่ม
แทงบุรุษนี้ในเวลาเช้า” พวกราชบุรุษจึงเอาหอกร้อยเล่ม
แทงบุรุษนั้นในเวลาเช้า ครั้นเวลากลางวัน พระราชาตรัส
ถามอย่างนี้ว่า     “พ่อมหาจำเริญ    ! บุรุษนั้นเป็นอย่างไร ?”
พวกราชบุรุษกราบทูลว่า “ขอเดชะ ! ยังเป็นอยู่อย่างเดิม
พระเจ้าข้า !” พระราชาทรงสั่งการนั้นอย่างนี้ว่า “ท่าน
ผู้เจริญ ! ไปเถิด พวกท่านจงเอาหอกร้อยเล่มแทงมันใน
เวลากลางวัน” พวกราชบุรุษจึงเอาหอกร้อยเล่มแทงบุรุษนั้น
ในเวลากลางวัน ครั้นเวลาเย็น พระราชาตรัสถามอย่างนี้
ว่า “พ่อมหาจำเริญ ! บุรุษนั้นเป็นอย่างไร ?” พวกราชบุรุษ
กราบทูลว่า “ขอเดชะ ! ยังเป็นอยู่อย่างเดิมพระเจ้าข้า !”
พระราชาทรงสั่งการนั้นอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ ! ไปเถิด
พวกท่านจงเอาหอกร้อยเล่มแทงมันในเวลาเย็น”
พวกราชบุรุษจึงเอาหอกร้อยเล่มแทงบุรุษนั้นในเวลาเย็น.

ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้น
เป็นอย่างไรเล่า ? บุรุษนั้น ถูกแทงด้วยหอกสามร้อยเล่ม
พึงเสวยทุกขโทมนัสเพราะการที่ถูกแทงนั้นเป็นเหตุบ้าง
หรือหนอ ?
ข้าแต่พระองคผู้เจริญ ! บุรุษนั้นถูกแทงด้วยหอกแม้เล่มเดียว
ก็เสวยทุกขโทมนัสเพราะเหตุที่ถูกแทงนั้นได ้ ป่วยการกล่าวถึงหอก
ตั้งสามร้อยเล่ม.

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงหยิบแผ่นหินย่อมๆ
ขนาดเท่าฝ่ามือ แล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า..

ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้น
เป็นอย่างไรเล่า? แผ่นหินย่อมๆ ขนาดเท่าฝ่ามือที่เราถือนี้
กับภูเขาหลวงหิมพานต์อย่างไหนหนอแลใหญ่กว่ากัน ?
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! แผ่นหินย่อมๆ ขนาดเท่าฝ่ามือ
ที่ทรงถือนี้ มีประมาณน้อยนัก เปรียบเทียบภูเขาหลวงหิมพานต์แล้ว
ย่อมไม่ถึงแม้ความนับ ย่อมไม่ถึงแม้ส่วนแห่งเสี้ยว ย่อมไม่ถึง
แม้การเทียบกันได้.

ภิกษุทั้งหลาย ! ฉันนั้นเหมือนกันแล ทุกขโทมนัส
ที่บุรุษกำลังเสวยเพราะการถูกแทงด้วยหอกสามร้อยเล่ม
เป็นเหตุ เปรียบเทียบทุกข์ของนรกยังไม่ถึงแม้ความนับ
ยังไม่ถึงแม้ส่วนแห่งเสี้ยว ยังไม่ถึงแม้การเทียบกันได้.

อุปริ. ม. ๑๔/๓๑๑-๓๑๕/๔๖๘-๔๗๔.



๑.หม้อเคี่ยวน้ำส้ม คือ ให้ต่อยกระบานศีศะเลิกออกเสีย

แล้ว เอาคิมคีบก้อนเหลกแดงใหญ่ใส่ลง ให้มันสะหมองศีศะพลุ่ง

ฟู่ขึ้น ดั่งม่อเคี่ยวน้ำส้มพะอูม

๒.ขอดสังข์ คือ ให้ตัดแต่หนังจำระเบื้องหน้า ถึงไพรปาก

เบื้องบนทังสองข้างเปนกำหนด ถึงหมวกหูทังสองข้างเปนกำหนด

ถึงเกลียวฅอชายผมเบื้องหลังเปนกำหนด แล้วให้มุ่นกระหมวดผม

เข้าทังสิ้น เอาท่อนไม้สอดเข้าข้างละคนโยกถอนคลอนสั่น เพิกหนัง

ทังผมนั้นออกเสียแล้ว เอากรวดทรายหยาบขัดกระบานศีศะชำระ

ให้ขาวเหมือนพรรณศรีสังข์

๓.ปากราหู คือ เอาขอเกี่ยวปากให้อ้าไว้แล้วตามประทีป

ไว้ในปาก ไนยหนึ่งเอาปากสิ่วอันคมนั้น แสะแหวะผ่าปากจนหมวก

หูทั้งสองข้าง แล้วเอาฃอเกี่ยวให้อ้าปากไว้ให้โลหิตไหลออกเตมปาก

๔.มาลัยไฟ คือ เอาผ้าชุ่มน้ำมันพันให้ทั่วกายแล้วเอา

เพลิงจุด

๕.คบมือ คือ เอาผ้าชุบน้ำมันพันนิ้วมือสิ้นทัง ๑๐ นิ้วแล้ว

เอาเพลิงจุด

๖.ริ้วส่าย คือ เชือดเนื้อให้เปนแร่ง เปนริ้ว อย่าให้ขาด ให้

เนื่องด้วยหนังตั้งแต่ใต้ฅอลงไปถึงข้อเท้าแล้วเอาเชือกผูกจำให้เดิร

เหยียบยํ่าริ้วเนื้อ ริ้วหนังแห่งตนให้ฉุดคร่าตีจำให้เดิรไปจนกว่าจะตาย

๗.นุ่งเปลือกไม้ คือ เชือดเนื้อให้เนื่องด้วยหนังเปนแร่ง

เป็นริ้ว แต่ใต้ฅอลงมาถึงเอวแล้วเชือดแต่เอวให้เปนแร่ง เปนริ้ว

ลงมาถึงข้อเท้า กระทำเนื้อเบื้องบนนั้นให้เปนริ้วตกปกคลุมลงมา

เหมือนนุ่งผ้าคากรอง

๘.ยืนกวาง คือ เอาห่วงเหลกสวมข้อสอกทังสองข้อเฃ่าทัง

สองข้างให้หมั้นแล้วเอาหลักเหลกสอดลงในวงเหลกแย่งขึงตรึงลง

ไว้กับแผ่นดินอย่าให้ไหวตัวได้ แล้วเอาเพลิงลนให้รอบตัวกว่าจะตาย

๙.เกี่ยวเหยื่อเบ็ด คือ เอาเบดใหญ่มีคมสองข้างเกี่ยวทั่ว

กาย เพิกหนังเนื้อแลเอนน้อยใหญ่ ให้หลุดขาดออกมากว่าจะตาย

๑๐.เหรียญกษาปณ์ คือ ให้เอามีดที่คมเชือดเนื้อให้ตก

ออกมาจากกาย แต่ทิละตำลึงกว่าจะสิ้นมังสะ

๑๑.แปรงแสบ คือ ให้แล่สับฟันทั่วกาย แล้วเอาแปรงหวี

ชุบน้ำแสบกรีดครูดขุดเซาะหนังแลเนื้อแลเอนน้อยใหญ่ ให้ลอก

ออกมาให้สิ้น ให้อยู่แต่ร่างกระดูก

๑๒.กางเวียน คือ ให้นอนลงโดยข้างๆ หนึ่งแล้ว ให้เอา

หลาวเหลกตอกลงไปโดยช่องหูให้แน่นกับแผ่นดิน แล้วจับเท้าทัง

สองหันเวียนไปดังบุทคลทำบังเวียน

๑๓.ตั่งฟาง คือ ทำมิให้เนื้อพังหนังขาด เอาลูกศีลาบด

ทุบกระดูกให้แหลกย่อยแล้วรวบผมเข้าทังสิ้น ยกขึ้นหย่อนลง

กระทำให้เนื้อเปนกองเปนลอม แล้วพับห่อเนื้อหนังกับทังกระดูก

นั้นทอดวางไว้ ทำดั่งตั่งอันทำด้วยฟางซึ่งไว้เชดเท้า

๑๔.ราดด้วยน้ำมันเดือดๆ คือ เคี่ยวน้ำมันให้เดือดพลุ่ง

พล่าน แล้วรดสาดลงมาแต่ศีศะกว่าจะตาย

๑๕.ให้สุนัขทึ้ง คือ ให้กักขังสูนักขร้ายทังหลายไว้ ให้อด

อาหารหลายวันให้เตมหยาก แล้วปล่อยออกให้กัดทึ้งเนื้อหนังกิน

ให้เหลือแต่ร่างกระดูกเปล่า

กฎหมายตราสามดวง เล่ม ๔

(พิมพ์ตามต้นฉบับกฎหมายตราสามดวง ฉบับหลวง)

หมวด พระไอยการกระบดศึก พิมพ์ครั้งที่ ๒ สำนักพิมพ์คุรุสภา

ปีที่พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๓๖

0 ความคิดเห็น:

Post a Comment