ขยายความ สีลัพพตุปาทาน

 สีลัพพตุปาทาน หมายถึงความถือมั่นในการประพฤติ การกระทำ ที่เคยประพฤติ เคยกระทำ ปฏิบัติสืบกันมา บางอย่าง ก็ไร้เหตุผล หรือที่ถือว่าเป็นการประพฤติที่นิยมกันว่าขลังหรือศักดิ์สิทธิ์
แล้วยึดถือไว้ในฐานะเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ซึ่งคนไทยเราทั่วไป ก็มีสิ่งที่เรียกว่า สีลัพพตะ กันไม่น้อยกว่าชนชาติอื่น มีการถือเครื่องรางของขลังและลัทธิพิธีเคล็ดลับต่างๆ ไม่ว่าจะนั่ง จะนอน จะตั้งชื่อ อะไรสารพัด ต้องถือฤกษ์ ถือเคล็ดลับ ต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ เวลานั้นเวลานี้ มีการเชื่อผีสางเทวดา ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องของคนโบราณก่อนพุทธกาล ก่อนพุทธศาสนา แต่ในปัจจุบันก็ยังมีคนยึดถือในทำนองนี้ และโดยเฉพาะมักจะเกี่ยวข้องกับขนบธรรมเนียมประเพณี หรือลัทธิศาสนานั่นเอง...”

“…ใจ ความสำคัญของสีลัพพตุปาทานนี้ อยู่ตรงที่ว่าเป็นระเบียบวิธีประพฤติปฏิบัติที่ทำไปโดยไร้เหตุผล โดยไม่คำนึงถึงเหตุผล โดยไม่อาศัยเหตุผล คง มีแต่ความยึดมั่นถือมั่น แต่ตามตัวหนังสืออย่างเดียวบ้าง ในฐานะที่เป็นของที่เคยทำแล้ว ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงบ้าง แม้แต่ที่เป็นพุทธบริษัทเป็นอุบาสก อุบาสิกาแท้ๆ ก็ยังมีของอย่างนี้ ยึดมั่นถือมั่นกันไว้คนละอย่างสองอย่าง แม้ที่เป็นพระภิกษุสงฆ์ ก็ยังยึดมั่นถือมั่นอะไรบางสิ่งบางอย่างหรือหลายๆอย่าง ในทำนองนี้ ซึ่งเป็นตัวศีลวัตร หรือ ศีลพรต ชนิดที่ยึดถือไว้ด้วยอุปาทาน โดยเฉพาะลัทธิศาสนาต่างๆที่ถือพระเป็นเจ้า ถือเทวดา ถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทำนองนั้นด้วยแล้ว จะต้องมีการถือชนิดนั้นมากอย่างยิ่ง สำหรับพุทธศาสนาเราไม่สู้จะมีมากอย่างนั้น แต่ถึงอย่างนั้นก็มีไม่น้อย ข้อนี้เป็นได้โดยเหตุที่ว่าเมื่อมาประพฤติศีล หรือธรรมะข้อใดข้อหนึ่ง แล้วไม่ทราบความมุ่งหมาย ไม่คำนึงถึงเหตุผล ได้แต่ลงสันนิษฐานเอาว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ เมื่อใดปฏิบัติของศักดิ์สิทธิ์แล้ว ย่อมได้ผลดีเอง...”

“…ฉะนั้น คนเหล่านี้จึงสมาทานศีล หรือประพฤติธรรมะ แต่เพียงตามแบบฉบับ ตามตัวอักษร ตามประเพณี ตามตัวอย่าง ที่สืบปรัมปรามาเท่านั้น ไม่เข้าถึงเหตุผลของสิ่งนั้นๆแต่เพราะอาศัยการประพฤติกระทำมาจนชิน การยึดถือจึงเหนียวแน่น เป็นอุปาทานชนิดที่แก้ไขยาก เป็นอุปาทานในการประพฤติ ปฏิบัติที่เคยกระทำสืบๆกันมาอย่างผิดๆหรืองมงาย ต่างจากอุปาทานสองข้อข้างต้น ซึ่งเกิดขึ้นในตัวบุคคล เฉพาะคน ส่วนข้อนี้เป็นการยึดถือในการปฏิบัติหรือการกระทำที่อยู่นอกกาย...”

“…แม้ การประพฤติวิปัสสนากรรมฐาน สมถกรรมฐาน อย่างที่ประพฤติกัน อยู่ก็ตาม ถ้าหากทำเพราะไม่รู้ความมุ่งหมายที่แท้จริง ก็ต้องเป็นการกระทำด้วยอุปาทาน ตกอยู่ในอำนาจของสีลัพพตุปาทานเช่นกัน แม้การรักษาศีล ถ้ารักษาโดยคิดว่าเป็นของขลัง ของศักดิ์สิทธิ์ โดยไม่รู้เหตุผลของการรักษา ก็ถือเป็นสีลัพพตุปาทาน ฉะนั้นการที่จะประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมของศาสนาที่ถูกต้อง จะต้องเป็นการถูกต้องไปตั้งแต่ทิฏฐิความคิด ความเห็น และความพอใจในผลของการปฏิบัติที่มีเหตุผล ในการทำลายกิเลส ไปตั้งแต่ต้นจนสิ้นสุดของการกระทำ ความประพฤติปฏิบัตินั้น จึงจะไม่เป็นไปเพื่อความยึดถือด้วยอุปาทานที่เหนียวแน่น นอกลู่นอกทางยิ่งขึ้น…”

“…อีก อย่างหนึ่ง ยังมีสิ่งที่ควรจะมองด้วยเหมือนกัน ว่าเราทุกคนมีอะไรที่เราถือรั้นเหนียวแน่นอยู่ในทางการกระทำหรือประพฤติ ในฐานะที่เป็นลัทธิชนิดหนึ่ง ซึ่งเราถือเสียว่าอยู่เหนือเหตุผลที่จะพิสูจน์ อาตมาอยากจะยืนยันว่า ข้อนี้เป็นทางที่จะทำให้เราตกหลุมพราง ของอุปาทานข้อนี้โดยไม่รู้สึกตัว และเป็นสิ่งที่มีอยู่ด้วยกันทุกคน ทั้งคนสมัยเก่า ทั้งคนสมัยใหม่ หรือคนสมัยใหม่เจี๊ยบก็ตาม ขอให้พิจารณาดูเถอะว่า เรากำลังเชื่อ กำลังพอใจ กำลังยึดถือ ในระเบียบแห่งการประพฤติ การกระทำ อย่างใดอย่างหนึ่งของตน อย่างเหนียวแน่น อย่างที่ใครๆจะมาง้างไม่ได้ทีเดียว ดังนี้ ด้วยกันทุกคน หากแต่ว่ามันแตกต่างกันเป็นหลายๆอย่าง เป็นคนๆไปเท่านั้น คนเรามัวหลงใหลอยู่ในสิ่งๆนี้กันเสีย จึงเป็นเหตุให้ติดเหนียวแน่นอยู่ในสิ่งที่ตนเคยถือรั้นผิดๆมาแต่เดิม เป็นทางไม่ให้ก้าวหน้าไปในทางสูงของจิตใจ จิตใจยังคงถูกหุ้มห่อให้มืดมิดอยู่ด้วยอุปาทานข้อที่สามนี้ตลอดเวลา...”


ขอบคุณที่มา http://www.suwalaiporn.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=369248

0 ความคิดเห็น:

Post a Comment