การเจริญอานาปานสติ (ตามนัยแห่งมหาสติปัฏฐานสูตร)

ภิกษุ ท. ! ภิกษุเป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นกายในกายอยู่นั้น เป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุ ท. ! ในกรณีนี้ ภิกษุไปแล้วสู่ป่า หรือ
โคนไม้ หรือเรือนว่างก็ตาม, ย่อมนั่งคู้ขาเข้ามาโดยรอบ(ขัดสมาธิ) ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า, เธอเป็นผู้มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก 

(๑) เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้ายาว, หรือเมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกยาว; หรือว่า 
(๒) เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้าสั้น, หรือเมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกสั้น, 
(๓) เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่าเราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง จักหายใจเข้า,เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง จักหายใจออก,
(๔) เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า เราทำกายสังขารให้
รำงับอยู่ จักหายใจเข้า, เราทำกายสังขารให้รำงับอยู่
จักหายใจออก, 
เช่นเดียวกับนายช่างกลึงหรือลูกมือของนายช่างกลึงผู้ชำนาญ เมื่อเขาชักเชือกกลึงยาว ก็รู้ชัดว่าเราชักเชือกกลึงยาว, เมื่อชักเชือกกลึงสั้น ก็รู้ชัดว่าเราชักเชือกกลึงสั้น, 
ฉันใดก็ฉันนั้น.
ด้วยอาการอย่างนี้แล ที่ภิกษุเป็นผู้มีปกติพิจารณา
เห็นกาย ในกายอันเป็นภายใน (คือของตน) อยู่ บ้าง, ในกาย
อันเป็นภายนอก (คือของผู้อื่น) อยู่ บ้าง, ในกายทั้งภายใน
และภายนอกอยู่ บ้าง; และเป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นธรรม
อันเป็นเหตุเกิดขึ้น (แห่งกาย) ในกาย (นี้) อยู่ บ้าง, เห็นธรรม
เป็นเหตุเสื่อมไป (แห่งกาย) ในกาย (นี้) อยู่ บ้าง, เห็นทั้งธรรม
เป็นเหตุเกิดขึ้นและเสื่อมไป (แห่งกาย) ในกาย (นี้) อยู่ บ้าง,
ก็แหละ สติ (คือความระลึก) ว่า “กายมีอยู่” ดังนี้ของเธอนั้น
เป็นสติที่เธอดำรงไว้เพียงเพื่อความรู้ เพียงเพื่ออาศัยระลึก,
ที่แท้เธอเป็นผู้ที่ตัณหาและทิฏฐิอาศัยไม่ได้ และเธอ
ไม่ยึดมั่นอะไร ๆ ในโลกนี้.

ภิกษุ ท. ! ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้มีปกติพิจารณา
เห็นกายในกายอยู่ แม้ด้วยอาการอย่างนี้.

มหาสติปัฏฐานสูตร มหาวาร. สํ. ๑๐/๓๒๒ - ๓๒๔/๒๗๔.,
สติปัฏฐานสูตร มู. ม. ๑๒/๑๐๓ - ๑๐๕/๑๓๓.

0 ความคิดเห็น:

Post a Comment