ขยายความ อัตตวาทุปาทาน

อัตตวาทุปาทาน อุปาทานที่สลัดหลุดยากที่สุด

อัตตวาทุปาทาน ความยึดถือในวาทะว่ามีตัวตน เป็นอุปาทานที่สลัดหลุดยากที่สุด สังเกตดูได้ จากอุปาทานสี่คือ


กามุปาทาน ยึดถือในความสุขแบบโลกๆ นักปฏิบัติบางคนก็มีอยู่น้อย บางคนสลัดหลุดได้ง่ายๆ คือไม่มีความยึดถือจริงจังกับความสุขแบบโลกๆมีก็ได้ไม่มีก็ได้ ไม่อยากแสวงหาอะไรเพิ่มเติม แบบนี้มีอยู่มาก

 

ทิฏฐปาทาน ความยึดถือในความคิดความเห็น คนที่ทำอะไรมีเหตุมีผลจะมีความยึดมั่นถือมั่นในความคิดความเห็นของตนน้อย อยู่แล้ว เขาจะมีใจเปิดกว้างรับฟังความเห็นรอบด้านไม่ยึดถือเอาความเห็นของตนเองเป็น ใหญ่ มีปัญญารู้จักแยกแยะว่าความเห็นใดถูกผิด มีปัญญาเข้าใจเหตุผลต่างๆในความคิดของคนอื่น ย่อมไม่จริงจังมั่นหมายว่าความคิดฉันเท่านั้นที่ถูก นักปฏิบัติที่มีเหตุมีผลเหล่านี้สลัดหลุดทิฏฐุปาทานได้ไม่ยากเย็นนัก
 

สีลัพพัตตุปาทาน ยึดถือในข้อวัตรอย่างงมงาย ข้อนี้บางคนก็มีน้อยหรือบางคนก็ไม่มี บางคนสามารถเข้าใจข้อวัตรปฏิบัติต่างๆด้วยเหตุด้วยผลมิใช่ด้วยความงมงาย เห็นมีอยู่มาก ชนิดที่ไม่ต้องแนะนำก็ละได้อยู่แล้ว เป็นอุปาทานอีกข้อหนึ่งที่สลัดหลุดได้ไม่ยากเย็นนักสำหรับผู้มีปัญญา

แต่อุปาทานข้อที่เข้าใจยากสลัดหลุดยากที่สุด แต่นักปฏิบัติสนใจน้อยที่สุดกลับเป็นอุปาทานข้อที่มีชื่อว่า อัตตวาทุปาทาน ความยึดถือในวาทะว่ามีตัวตน ข้อนี้เข้าใจกันคลาดเคลื่อนมาก ปฏิบัติกันคลาดเคลื่อนตามไปด้วย เลยกลายเป็นสลัดหลุดกันไม่ได้ในที่สุด คำว่าอัตตวาทุปาทาน บางคนไปเข้าใจว่าหมายถึง การยึดถือว่ามีตัวตน หรือยึดถือในตัวตน เข้าใจแบบนี้การปฏิบัติจึงเป็นไปในแนวที่จะทิ้งตัวตนหรือละตัวตน ไปคิดว่าไม่มีตัวตน ซึ่งมิใช่เป็นความเข้าใจที่ผิด เพียงแต่ยังเข้าใจถูกไม่ครบถ้วน ทำให้ยากต่อการปฏิบัติ


ความจริงอุปาทานข้อนี้เขาหมายถึงการไปยึดถือในวาทะว่ามีตัวตน หรือไปยึดถือว่ามีตัวตนตามวาทะที่พูดที่กล่าวที่คิด ตรงนี้ต้องใคร่ครวญด้วยปัญญาให้ดีๆ เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมากๆ เข้าใจผิดคิดผิดปฏิบัติผิดไปเลย คำว่าอัตตวาทุปาทาน คำว่าวาทะคือวาทะทั้งที่พูดคิดเขียนอ่านถือเป็นวาทะทั้งสิ้น และยึดถือในวาทะก็คือยึดถือในสิ่งที่พูดคิดเขียนอ่านนั่นเอง ส่วนวาทะที่พูดคิดเขียนอ่านในที่นี้เขาหมายถึงวาทะที่เมื่อพูดคิดเขียนอ่าน แล้วเราใส่ตัวตนใส่ความมีความเป็นให้วาทะนั้น แล้วไปยึดถือว่าสิ่งที่พูดคิดเขียนอ่านมันมีตัวตนมีสภาพมีสภาวะมีความมีความ เป็นอย่างใดอย่างหนึ่งตามคำพูด การยึดถือในวาทะว่ามีตัวตนตามคำพูดนี่คืออัตตวาทุปาทาน

 
เช่นเราพูดว่าคน แล้วเราไปยึดถือว่ามีตัวตนของคนตามวาทะที่พูดแบบนี้คืออัตตวาทุปาทาน ปกติปุถุชนทั่วไปต้องยึดถือว่าสิ่งที่พูดถึงล้วนมีตัวตนทั้งสิ้น เพราะอวิชชานำพาไปให้เกิดความยึดถือเช่นนั้น และโดยส่วนใหญ่ก็ไม่รู้ตัวเลย ว่าที่แท้แล้วตัวตนจริงๆของสิ่งไรๆที่เราพูดมันไม่มีอยู่จริงๆเลย แต่พอพูดถึงเรากลับใส่ตัวตนให้สิ่งนั้นขึ้นมาทันที คือคิดเอาเองว่ามันมีตัวตน แล้วยึดถือในความคิดนั้นว่ามันมีตัวตนอยู่จริงๆ เป็นการยึดถือผิดๆที่ฝังรากลึก จนบางคนไม่สามารถเข้าใจอุปาทานข้อนี้ได้เลย คือไม่เข้าใจว่าวาทะว่ามีตัวตนคืออะไรเป็นอย่างไร เพราะต่างคนต่างคิดว่าเรามีตัวตน พูดตามความจริง คือคิดว่าการมีตัวตนคือความจริง เลยยึดมั่นถือมั่นว่ามีตัวตนจริงๆตามวาทะที่พูด ใครบอกว่าตัวตนไม่มีจึงไม่เข้าใจ ทำอย่างไรก็ไม่สามารถทำให้จิตส่วนในยอมรับได้ว่าเราไม่มีกายไม่มีจิตไม่มี คือพูดอะไรออกมาคิดว่าสิ่งนั้นมีอยู่จริงๆทั้งหมด นี่คืออุปาทานที่ละยากที่สุดในบรรดาอุปาทานทั้งสี่ ต้องใช้ปัญญายิ่ง ความเพียรยิ่ง สติชอบยิ่ง สมาธิชอบยิ่ง จึงจะเข้าใจและสลัดหลุดจากความเห็นว่ามีตัวตนตามวาทะของตนของตน


รู้ว่าไม่มีตัวตน ใครๆก็รู้ แต่แค่รู้ว่าไม่มีตัวตนเห็นว่าไม่มีตัวตน ยังไม่พอ ต้องถอนความว่ามีตัวตนออกเสียให้ได้ ปกติคนเรารู้ว่าไม่มีตัวตนกันอยู่แล้วเป็นส่วนมาก เพราะพูดถึงกันอยู่บ่อยๆ แต่ทั้งๆที่รู้ก็ยังมีความเห็นว่ามีตัวตนอยู่ การรู้ว่าไม่มีตัวตนจึงยังไม่มีประโยชน์ ต้องหาความเห็นว่ามีตัวตนให้พบแล้วถอนความเห็นว่ามีตัวตนออกกระทั้งรากอย่า ให้มีเศษเหลือ จึงจะเกิดสัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ


เจริญธรรม
สมสุโขภิกขุ
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลจาก
ธรรมะติดดิน สมสุโขภิกขุ


ขยายความจากอีกแหล่ง
อัตตวาทุปาทาน อันเป็นอุปาทานข้อสุดท้ายนั้น แปลว่าความยึดมั่นด้วยวาทะว่าตัวตน ท่านใช้คำว่า ยึดมั่นด้วยวาทะ คือคำพูดว่าตัวตน แต่ที่จริงไม่ใช่คำพูดมัน เป็นความยึดถือในใจ หรือถ้าจะว่าพูดก็เป็นใจพูด คือใจพูดข้างใน ว่านี้มันตัวตน ความยึดถือว่าเป็นตัวว่าตนนี้ เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง เท่าๆกับที่เป็นสิ่งเร้นลับอย่างยิ่ง ถ้าจะกล่าวให้กว้างออกไปอีก ก็กล่าวได้ว่า เป็นตัวสัญชาตญาณโดยตรง…”

“…ความ รู้สึกที่มีประจำอยู่ในชีวิตจิตใจของสิ่งที่มีชีวิตนั้น ย่อมจะมีความรู้สึกในข้อที่ว่า เราเป็นเรา หรือเราเป็นตัวตนของเราอยู่ดังนี้เสมอไป อย่างที่ช่วยไม่ได้ เพราะเหตุว่าความรู้สึกอันนี้แหละ เป็นสัญชาตญาณขั้นมูลฐานที่สุด ของสิ่งที่มีชีวิต และเป็นสัญชาตญาณมูลฐานของสัญชาตญาณอื่นๆ สัญชาตญาณอื่นๆ ในที่นี้ ก็เช่น สัญชาตญาณเพื่อจะหาอาหาร กินอาหาร เพื่อให้มีความเจริญงอกงามใหญ่โต รวมทั้งสัญชาตญาณเพื่อต่อสู้อันตราย เพื่อจะหลบหนีอันตราย หรือว่าสัญชาตญาณที่จะสืบพันธุ์เอาไว้ไม่ให้สาบสูญ และสัญชาตญาณอื่นๆอีกมาก แต่ว่าสัญชาตญาณทั้งหมดนั้น ต้องอาศัยอยู่บนสัญชาตญาณแห่งการรู้สึกยึดถือว่าตัวเรา เสียก่อน มันจึงจะไม่อยากตาย มันจึงจะอยากหาอาหารมาเลี้ยงร่างกาย มันจึงอยากจะต่อสู้เพื่อเอาตัวรอด หรือไม่ให้รับอันตราย มันจึงอยากจะสืบพันธุ์ของมันไว้ มันจะเป็นสัญชาตญาณใดๆก็ตาม ก็ต้องอาศัยอยู่บนสัญชาตญาณที่เป็นมูลฐาน คือสัญชาตญาณที่เป็นความรู้สึกยึดถือว่ามีตัวตนนี่เอง ความยึดถือว่ามีตัวตนจึงเกิดเป็นสิ่งที่จะต้องมีประจำอยู่ในสิ่งทุกสิ่งที่ มีชีวิต ถ้าไม่อย่างนั้นแล้ว มันจะมีชีวิตรอดมาไม่ได้ ขอให้เข้าใจสั้นๆว่า ถ้าปราศจากความรู้สึกยึดถือว่าตัวตนแล้ว มันจะมีชีวิตมาไม่ได้ คือมันจะไม่แสวงหาอาหาร มันจะไม่หลบหลีกอันตราย มันจะไม่สืบพันธุ์ ดังนี้เป็นต้น ครั้นมีชีวิตมาได้ถึงบัดนี้ ก็หมายความว่ามีสัญชาตญาณแห่งความยึดถือตัวตนนี่แหละเป็นมูลฐาน พร้อมกัน นั้น ก็เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดทุกข์ ในการแสวงหา ซึ่งต้องอาศัยความอยาก คือ กิเลสตัณหา เพราะฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่า มันเป็นมูลฐานแห่งความทุกข์ทั้งปวง ใน ข้อนี้มีพระบาลีที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้เป็นใจความว่า ถ้าเราจะพูดกันโดยสรุปความให้สั้นที่สุดแล้ว ก็พูดว่า ร่างกายและจิตใจที่มีอุปาทานยึดครองอยู่นั่นแหละ เป็นตัวความทุกข์ หรือเป็นมูลเหตุของความทุกข์ อุปาทานข้อนี้ เป็นมูลกำเนิดของชีวิตด้วย เป็นมูลกำเนิดของความทุกข์ด้วย พร้อมกันหรือเคียงคู่กันมา และคำว่า ชีวิตคือความทุกข์ก็หมายความกันถึงข้อนี้ และอัต ตวาทุปาทาน เป็นความรู้สึกที่อยู่เหนือเหตุผล เรามีทางทำได้อย่างเดียวคือการควบคุมมันไว้ด้วยความรู้ทางธรรม ถ้าเราต้องการจะเป็นพุทธบริษัทที่ได้รับประโยชน์จากพุทธศาสนาก็จำเป็นต้อง เอาชนะอุปาทานข้อนี้ให้ได้มากที่สุด...”

0 ความคิดเห็น:

Post a Comment