กามุปาทาน ยึด มั่นในกาม ซึ่งเป็นประการแรกนั้น เห็นได้จากการที่คนเราตามธรรมดา มีความติดพันในสิ่งที่เป็นที่รักที่พอใจ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งใด คือจะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม รูป ก็คือสิ่งที่น่ารักใคร่ในทางรูป หรือทางที่เห็นด้วยตา เสียง ก็หมายถึงเสียงไพเราะที่จะผูกพันจิตใจ กลิ่นก็คือกลิ่นหอม รส ก็คือรสอร่อย โผฎฐัพพะคือการสัมผัสทางกาย ตามที่สัญชาตญาณตามปรกติของคนเรารู้สึกว่าเป็นความสนุกสนานเพลิดเพลินหรือ
เอร็ดอร่อย วัตถุที่ตั้งของกามารมณ์ 5 อย่างนี้ กล่าวเพียงเท่าที่รู้จักกันทั่วไป แต่ตามหลักธรรมในพุทธศาสนานั้น ขยายออกเป็น 6 คือมี “ธรรมารมณ์” เพิ่มอีกอย่างหนึ่ง หมายถึงสิ่งที่ผุดขึ้นในความรู้สึกในใจ เป็นเรื่องอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต ก็ได้ เกี่ยวกับวัตถุภายนอกหรือภายในก็ได้เป็นของจริงหรือเป็นเพียงคิดฝันก็ได้ ซึ่งอาจให้เกิดเอร็ดอร่อยทางจิตในขณะที่รู้สึก เมื่อทารกเกิดมา ได้รู้รสของอารมณ์ทั้ง 6 นี้ เป็นครั้งแรก ก็เกิดความยึดถือในอารมณ์นั้นขึ้น และยึดถือยิ่งขึ้นเป็นลำดับๆมาจนกระทั่งบัดนี้ มีความยึดถือในสิ่งซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความรักใคร่เช่นนั้นอย่างแน่นแฟ้น อย่าง ที่เหลือวิสัยที่คนธรรมดาจะถอนได้ เพราะฉะนั้นจึงเป็นปัญหาสำคัญ ที่เราจะต้องมีความรู้ความเข้าใจให้ถูกต้อง และประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องต่อสิ่งเหล่านั้น มิฉะนั้นความยึดถือ ในกามนี่แหละ จะนำไปสู่ความพินาศฉิบหาย ขอให้เราพิจารณาดูความพินาศฉิบหายของคนทั่วๆไป ตามปรกติก็จะมองเห็นว่า มีมูลมาจากความยึดมั่นถือมั่นในกามอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังที่กล่าวมาแล้ว คำว่า “กาม” ในภาษาบาลี มีขอบเขตกว้างขวางกว่าในภาษาไทย ซึ่งหมายถึงแต่ความรู้สึกในทางเพศตรงข้ามอย่างเดียว ถึงเพียงนี้ นักจิตวิทยา ที่ชื่อ Sigmund Freud ยอมเชื่อ หรือยอมมีหลักว่า อะไรทุกอย่างที่มนุษย์ทำกันอยู่ในโลก ไม่ว่าอะไรล้วนแต่มีมูลมาจากสิ่งที่เรียกว่ากามารมณ์นี้ทั้งนั้น...”
“...ถ้า มองดูกันในแง่ที่เกี่ยวกับสัตว์โลกทั่วๆไปแล้ว จะเห็นว่าข้อนี้เป็นความจริงถึงที่สุดจริงๆด้วย เพราะว่าคนเราจะรักกันก็มีมูลมาจากกามารมณ์ เรา จะโกรธกัน เกลียดกัน อิจฉาริษยาฆ่าฟันกันหรือฆ่าตัวเองก็ตาม ก็จะต้องมีมูลมาจากกามารมณ์ เพราะว่าความโกรธความเกลียดนั้น จะ ต้องมาจากการที่ต่างฝ่ายต่างหวังในกามารมณ์อันใดอันหนึ่ง แล้วมีประโยชน์อันขัดกันไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ยิ่งคิดไปยิ่งจะเห็นได้ว่า การที่มนุษย์ต้องทำงานต้องขวนขวายต่างๆ นานาประการ หรือทำอะไรก็ตาม เราอาจสืบสาวเรื่องราวไปจนพบว่ามีความอยากในสิ่งที่ตนใคร่จะได้อย่างใดอย่าง หนึ่งเป็นมูลฐานอยู่ในส่วนลึกทั้งนั้น ขอ ให้พินิจคิดดูแม้แต่ว่าที่เราอุตส่าห์เล่าเรียนเพื่อประกอบอาชีพนี้ ก็ต้องมีมูลมาจากกามารมณ์ เพราะว่าเป็นไปเพื่อให้ได้ผลจากอาชีพ แล้วก็ไปจัดหาความสบายในทางรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทั้งนั้น จะมีอะไรมากไปกว่านี้เล่า แม้แต่เรื่องทำบุญให้ทานเพื่อไปสวรรค์ ก็เป็นการกล่าวว่ามีมูลมาจากความหวังในทางกามารมณ์ เพราะฉะนั้นอาตมาจึงจำกัดความลงไปว่า ความยุ่งยากปั่นป่วนของสัตว์ ของมนุษย์ ของโลก ทั้งสิ้นนั้น มีมูลมาจากกามารมณ์ อยู่นั่นเอง"
“ทำไมกามารมณ์ จึงมีอำนาจร้ายกาจถึงเพียงนี้ ก็เพราะเหตุว่าอำนาจของ กามุปาทาน คือความยึดมั่นถือมั่น ยึดติดอย่างเหนียวแน่นในกามตัวนี้เอง พระพุทธเจ้าจึงตรัสไว้ในฐานะเป็นอุปาทานข้อต้น เป็นปัญหาเกี่ยวกับโลกโดยตรง โลกจะตั้งอยู่หรือจะหมุนไป หรือจะแตกดับวินาศฉิบหาย หรือจะเป็นอะไรก็ตาม ย่อมมีมูลมาจากกามุปาทานนี้โดยตรงและทั่วไป เราควรจะพิจารณาให้มองเห็นชัดในตัวเราเองว่า เรามีกามุปาทานกันอย่างไร มาตั้งแต่เมื่อไหร่ และเหนียวแน่นเพียงไร และอยู่ในลักษณะที่ออกจะเหลือวิสัยที่เราจะละได้จริงๆหรือไม่ ถ้าหากว่าเราไม่พึ่งสติปัญญาของพระพุทธเจ้าแล้ว เราจะสามารถละกามุปาทานกันได้อย่างไร ดูยังมืดมนมาก สิ่งนี้แหละ คือสิ่งที่เรียกว่ากามุปาทาน อันจะตัดหรือละได้ด้วยการประพฤติปฏิบัติในทางพุทธศาสนาชั้นสูง ไม่ใช่ชั้นศีลธรรม หรือจริยธรรม ตามธรรมดา ถ้าว่ากันอย่างตามธรรมชาติหรือพื้นๆทั่วไปอย่างโลกๆแล้ว กามุปาทานเสียอีก กลับจะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างใหญ่หลวง ที่ว่ามีประโยชน์ หมายความว่าจะทำให้รักครอบครัว จะทำให้ขยันขันแข็งในการแสวงหาทรัพย์และชื่อเสียง ฯลฯ อะไรเหล่านี้เป็นต้น ล้วนแต่มีมูลมาจากกามุปาทานอยู่ทั้งนั้น
ถ้า จะเพ่งไปในทางดีอย่างโลกๆ ก็นับว่าเป็นกำลังอันหนึ่ง ซึ่งทำให้คนขยันขันแข็ง แต่ถ้ามองกันในแง่ของธรรม จะรู้สึกว่าเป็นทางมาแห่งความทุกข์ทรมานอันเร้นลับ เพราะฉะนั้นในทางธรรม กามุปาทาน จึงเป็นสิ่งที่ต้องควบคุม หรือถึงกับเป็นสิ่งที่จะต้องละในที่สุด เราละได้หรือยัง เราจะละกันหรือยัง นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ขอแต่ให้เข้าใจไว้อย่างชัดเจนว่านี่แหละคือสิ่งที่พุทธศาสนามุ่งหมายจะให้ ได้รับการควบคุม มุ่งหมายจะให้ละในที่สุด นับเป็นอุปาทานข้อแรก…”
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล http://www.suwalaiporn.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=131997
0 ความคิดเห็น:
Post a Comment