การทำความเพียรแข่งกับอนาคตภัย

ภิกษุ ท. ! ภัยในอนาคตเหล่านี้ มีอยู่ ๕ ประการ
ซึ่งภิกษุผู้มองเห็นอยู่ ควรแท้ที่จะเป็นผู้ไม่ประมาท มี
เพียรเผากิเลส มีตนส่งไปแล้วในการทำเช่นนั้น อยู่ตลอดไป,
เพื่อถึงสิ่งที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้
แจ้งสิ่งที่ยังไม่ทำให้แจ้งเสียโดยเร็ว. ภัยในอนาคต ๕ ประการ
นั้น คืออะไรบ้างเล่า ?
๕ ประการคือ 


๑. ภิกษุในกรณีนี้ พิจารณาเห็นชัดแจ้งว่า “บัดนี้
เรายังหนุ่ม ยังเยาว์วัย ยังรุ่นคะนอง มีผมยังดำสนิท ตั้งอยู่
ในวัยกำลังเจริญ คือปฐมวัย; แต่จะมีสักคราวหนึ่งที่
ความแก่ จะมาถึงร่างกายนี้, ก็คนแก่ถูกความชราครอบงำแล้ว
จะมนสิการถึงคำสอนของท่านผู้รู้ทั้งหลายนั้น ไม่ทำได้
สะดวกเลย; และจะเสพเสนาสนะอันเงียบสงัด ซึ่งเป็นป่าชัฏ
ก็ไม่ทำได้ง่าย ๆ เลย. ก่อนแต่สิ่งอันไม่เป็นที่ต้องการ
ไม่น่าใคร่ ไม่น่าชอบใจ (คือความแก่) นั้นจะมา ถึงเรา
เราจะรีบทำความเพียร เพื่อถึงสิ่งที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุสิ่งที่
ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งสิ่งที่ยังไม่ทำให้แจ้งเสียโดยเร็ว
ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ถึงแล้ว แม้จะแก่เฒ่า ก็จักอยู่เป็นผาสุก”
ดังนี้.

๒. ภิกษุ ท. ! ข้ออื่นยังมีอีก : ภิกษุพิจารณา
เห็นชัดแจ้งว่า “บัดนี้ เรามีอาพาธน้อย มีโรคน้อย มีไฟ
ธาตุให้ความอบอุ่นสม่ำเสมอ ไม่เย็นนัก ไม่ร้อนนัก พอ
ปานกลาง ควรแก่การทำความเพียร; แต่จะมีสักคราว
หนึ่งที่ ความเจ็บไข้ จะมาถึงร่างกายนี้, ก็คนที่เจ็บไข้
ถูกพยาธิครอบงำแล้ว จะมนสิการถึงคำสอนของท่านผู้รู้
ทั้งหลายนั้น ไม่ทำได้สะดวกเลย; และจะเสพเสนาสนะ
อันเงียบสงัด ซึ่งเป็นป่าชัฏก็ไม่ทำได้ง่าย ๆ เลย. ก่อนแต่
สิ่งอันไม่เป็นที่ต้องการ ไม่น่าใคร่ ไม่น่าชอบใจ (คือความ-
เจ็บไข้) นั้นจะมาถึงเรา เราจะรีบทำความเพียร เพื่อถึงสิ่ง
ที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งสิ่ง
ที่ยังไม่ทำให้แจ้งเสียโดยเร็ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ถึงแล้ว
แม้จะเจ็บไข้ ก็จักอยู่เป็นผาสุก” ดังนี้.

๓. ภิกษุ ท. ! ข้ออื่นยังมีอีก : ภิกษุพิจารณา
เห็นชัดแจ้งว่า “บัดนี้ ข้าวกล้างามดี บิณฑะ(ก้อนข้าว)
หาได้ง่าย เป็นการสะดวกที่จะยังชีวิตให้เป็นไป ด้วย
ความพยายามแสวงหาบิณฑบาต; แต่จะมีสักคราวหนึ่งที่
ภิกษาหายาก ข้าวกล้าเสียหาย บิณฑะหาได้ยาก ไม่เป็น
การสะดวกที่จะยังชีวิตให้เป็นไปด้วยความพยายาม
แสวงหาบิณฑบาต, เมื่อภิกษาหายาก ที่ใดภิกษาหาง่าย
คนทั้งหลายก็อพยพกันไป ที่นั้น, เมื่อเป็นเช่นนั้น
ความอยู่คลุกคลีปะปนกันในหมู่คนก็จะมีขึ้น เมื่อมีการ
คลุกคลีปะปนกันในหมู่คน จะมนสิการถึงคำสอนของ
ท่านผู้รู้ทั้งหลายนั้น ไม่ทำได้สะดวกเลย; และจะเสพ
เสนาสนะอันเงียบสงัด ซึ่งเป็นป่าชัฏก็ไม่ทำได้ง่าย ๆเลย.
ก่อนแต่สิ่งอันไม่เป็นที่ต้องการ ไม่น่าใคร่ ไม่น่าชอบใจ
(คือภิกษาหายาก) นั้นจะมาถึงเรา เราจะรีบทำความเพียร
เพื่อถึงสิ่งที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้
แจ้งสิ่งที่ยังไม่ทำให้แจ้งเสียโดยเร็ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ถึง
แล้ว จักอยู่เป็นผาสุก แม้ในคราวที่เกิดทุพภิกขภัย” ดังนี้.

๔. ภิกษุ ท. ! ข้ออื่นยังมีอีก : ภิกษุพิจารณา
เห็นชัดแจ้งว่า “บัดนี้ คนทั้งหลายสมัครสมานชื่นบาน
ต่อกัน ไม่วิวาทกัน เข้ากันได้ดุจดั่งนมผสมกับน้ำ มองแล
กันด้วยสายตาแห่งคนที่รักใคร่กัน เป็นอยู่; แต่จะมี
สักคราวหนึ่งที่ ภัย คือ โจรป่ากำเริบ ชาวชนบทผู้ขึ้นอยู่
ในอาณาจักรแตกกระจัดกระจายแยกย้ายกันไป, เมื่อมีภัย
เช่นนี้ ที่ใดปลอดภัย คนทั้งหลายก็อพยพกันไป ที่นั้น,
เมื่อเป็นเช่นนั้น ความอยู่คลุกคลีปะปนกันในหมู่คนก็จะมีขึ้น
เมื่อมีการอยู่คลุกคลีปะปนกันในหมู่คน จะมนสิการถึง
คำสอนของท่านผู้รู้ทั้งหลายนั้น ไม่ทำได้สะดวกเลย;
ก่อนแต่สิ่งอันไม่เป็นที่ต้องการ ไม่น่าใคร่ ไม่น่าชอบใจ
(คือโจรภัย) นั้นจะมาถึงเรา เราจะรีบทำความเพียร เพื่อถึง
สิ่งที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้ง
สิ่งที่ยังไม่ทำให้แจ้งเสียโดยเร็ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ถึงแล้ว
จักอยู่เป็นผาสุก แม้ในคราวที่เกิดโจรภัย” ดังนี้.

๕. ภิกษุ ท. ! ข้ออื่นยังมีอีก : ภิกษุพิจารณา
เห็นชัดแจ้งว่า “บัดนี้ สงฆ์สามัคคีปรองดองกัน ไม่วิวาทกัน
มีอุทเทสเดียวกัน อยู่เป็นผาสุก; แต่จะมีสักคราวหนึ่งที่
สงฆ์แตกกัน, เมื่อสงฆ์แตกกันแล้ว จะมนสิการถึงคำสอน
ของท่านผู้รู้ทั้งหลายนั้น ไม่ทำได้สะดวกเลย; และจะเสพ
เสนาสนะอันเงียบสงัดซึ่งเป็นป่าชัฏ ก็ไม่ทำได้ง่าย ๆ เลย.
ก่อนแต่สิ่งอันไม่เป็นที่ต้องการ ไม่น่าใคร่ ไม่น่าชอบใจ
(คือสงฆ์แตกกัน) นั้นจะมาถึงเรา เราจะรีบทำความเพียรเพื่อ
ถึงสิ่งที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้ง
สิ่งที่ยังไม่ทำให้แจ้งเสียโดยเร็ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ถึงแล้ว
จักอยู่เป็นผาสุก แม้ในคราวเมื่อสงฆ์แตกกัน” ดังนี้.

ภิกษุ ท. ! ภัยในอนาคต ๕ ประการ เหล่านี้แล
ซึ่งภิกษุผู้มองเห็นอยู่ ควรแท้ที่จะเป็นผู้ไม่ประมาท มีเพียร
เผากิเลส มีตนส่งไปแล้วในการทำเช่นนั้น อยู่ตลอดไป,
เพื่อถึงสิ่งที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้
แจ้งสิ่งที่ยังไม่ทำให้แจ้งเสียโดยเร็ว.

ปญฺจก. อํ. ๒๒/๑๑๗/๗๘.

0 ความคิดเห็น:

Post a Comment