อานิสงส์แห่งอานาปานสติ ๗ ประการ

ภิกษุทั้งหลาย ! อานาปานสติ อันบุคคลเจริญ
กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่
ก็อานาปานสติ อันบุคคลเจริญแล้วอย่างไร กระทำให้มากแล้ว
อย่างไร จึงมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ ?


ภิกษุทั้งหลาย ! ในกรณีนี้ ภิกษุไปแล้วสู่ป่า หรือ
โคนไม้ หรือเรือนว่างก็ตาม นั่งคู้ขาเข้ามาโดยรอบ ตั้งกายตรง
ดำรงสติเฉพาะหน้า เธอนั้น มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก :

เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้ายาว,
เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกยาว;

เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้าสั้น,
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกสั้น;

เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อม
เฉพาะซึ่งกายทั้งปวง หายใจเข้า”, ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อม
เฉพาะซึ่งกายทั้งปวง หายใจออก”;

เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำ
กายสังขารให้รำงับ หายใจเข้า”, ว่า “เราเป็นผู้ทำ
กายสังขารให้รำงับ หายใจออก”;

เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อม
เฉพาะซึ่งปีติ หายใจเข้า”, ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะ
ซึ่งปีติ หายใจออก”;

เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อม
เฉพาะซึ่งสุข หายใจเข้า”, ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะ
ซึ่งสุข หายใจออก”;

เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อม
เฉพาะซึ่งจิตตสังขาร หายใจเข้า”, ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อม
เฉพาะซึ่งจิตตสังขาร หายใจออก”;

เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำ
จิตตสังขารให้รำงับ หายใจเข้า”, ว่า “เราเป็นผู้ทำ
จิตตสังขารให้รำงับ หายใจออก”;

เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อม
เฉพาะซึ่งจิต หายใจเข้า”, ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะ
ซึ่งจิต หายใจออก”;

เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้
ปราโมทย์ยิ่ง หายใจเข้า”, ว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ปราโมทย์ยิ่ง
หายใจออก”;

เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้
ตั้งมั่น หายใจเข้า”, ว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ตั้งมั่น หายใจออก”;

เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้
ปล่อยอยู่ หายใจเข้า”, ว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ปล่อยอยู่
หายใจออก”;

เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่ง
ความไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำ หายใจเข้า”, ว่า “เราเป็น
ผู้เห็นซึ่งความไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำหายใจออก”;

เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่ง
ความจางคลายอยู่เป็นประจำ หายใจเข้า”, ว่า “เราเป็น
ผู้เห็นซึ่งความจางคลายอยู่เป็นประจำ หายใจออก”;

เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่ง
ความดับไม่เหลืออยู่เป็นประจำหายใจเข้า”, ว่า “เราเป็น
ผู้เห็นซึ่งความดับไม่เหลืออยู่เป็นประจำหายใจออก”;

เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่ง
ความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ หายใจเข้า”, ว่า “เราเป็น
ผู้เห็นซึ่งความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ หายใจออก”;

ภิกษุทั้งหลาย ! อานาปานสติ อันบุคคลเจริญ
แล้ว กระทำให้มากแล้ว อย่างนี้แล ย่อมมีผลใหญ่
มีอานิสงส์ใหญ่.

ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่ออานาปานสติ อันบุคคล
เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว อยู่อย่างนี้ ผลอานิสงส์ ๗
ประการ ย่อมเป็นสิ่งที่หวังได้.

ผลอานิสงส์ ๗ ประการ เป็นอย่างไรเล่า ?


ผลอานิสงส์ ๗ ประการคือ
๑. การบรรลุอรหัตตผลทันทีในปัจจุบันนี้,


๒. ถ้าไม่เช่นนั้น ย่อมบรรลุอรหัตตผลในกาล แห่งมรณะ,

๓. ถ้าไม่เช่นนั้น เพราะสิ้นโอรัมภาคิยสัญโญชน์ ๕ ย่อมเป็นอันตราปรินิพพายี (ผู้จะปรินิพพานในระหว่างอายุ ยังไม่ถึงกึ่ง),

๔. ถ้าไม่เช่นนั้น เพราะสิ้นโอรัมภาคิยสัญโญชน์ ๕ ย่อมเป็นอุปหัจจปรินิพพายี (ผู้จะปรินิพพานเมื่อใกล้จะสิ้นอายุ),

๕. ถ้าไม่เช่นนั้น เพราะสิ้นโอรัมภาคิยสัญโญชน์ ๕ ย่อมเป็นอสังขารปรินิพพายี (ผู้จะปรินิพพานโดยไม่ต้องใช้ ความเพียรมากนัก),

๖. ถ้าไม่เช่นนั้น เพราะสิ้นโอรัมภาคิยสัญโญชน์ ๕ ย่อมเป็นสสังขารปรินิพพายี (ผู้จะปรินิพพานโดยต้องใช้ ความเพียรมาก),

๗. ถ้าไม่เช่นนั้น เพราะสิ้นโอรัมภาคิยสัญโญชน์ ๕ ย่อมเป็นอุทธังโสโตอกนิฏฐคามี (ผู้มีกระแสในเบื้องบน ไปสู่อกนิฏฐภพ).


ภิกษุทั้งหลาย ! อานาปานสติ อันบุคคลเจริญ

แล้ว กระทำให้มากแล้ว อย่างนี้แล ผลอานิสงส์ ๗

ประการเหล่านี้ ย่อมหวังได้ ดังนี้.


มหาวาร. สํ. ๑๙/๓๙๗/๑๓๑๔-๑๓๑๖.

0 ความคิดเห็น:

Post a Comment