หลักเกณฑ์พยากรณ์ภาวะโสดาบันของตนเอง

คหบดี ! ในกาลใด ภัยเวร ๕ ประการอัน
อริยสาวกทำให้สงบรำงับได้แล้ว ด้วย, อริยสาวกประกอบ
พร้อมแล้วด้วยโสตาปัตติยังคะสี่ ด้วย, อริยญายธรรม
เป็นธรรมที่อริยสาวกเห็นแล้วด้วยดี แทงตลอดแล้ว
ด้วยดีด้วยปัญญา ด้วย;ในกาลนั้น อริยสาวกนั้น
 เมื่อหวังอยู่ก็พยากรณ์ตนด้วยตน นั่นแหละว่า

“เราเป็นผู้มีนรกสิ้นแล้ว มีกำเนิดเดรัจฉานสิ้นแล้ว
มีเปรตวิสัยสิ้นแล้ว มีอบายทุคติวินิบาตสิ้นแล้ว, เราเป็น
ผู้ถึงแล้วซึ่งกระแส (แห่งนิพพาน) มีความไม่ตกต่ำเป็น
ธรรมดา เป็นผู้เที่ยงแท้ต่อนิพพาน มีการตรัสรู้พร้อม
เป็นเบื้องหน้า” ดังนี้.

คหบดี ! ภัยเวร ๕ ประการ เหล่าไหนเล่า
อันอริยสาวกทำให้สงบรำงับได้แล้ว ?
(๑) คหบดี ! บุคคลผู้ฆ่าสัตว์อยู่เป็นปกติ
ย่อมประสพภัยเวรใดในทิฏฐธรรม (ปัจจุบัน) บ้าง, ย่อม
ประสพภัยเวรใดในสัมปรายิก (ในเวลาถัดต่อมา) บ้าง,
ย่อมเสวยทุกขโทมนัสแห่งจิตบ้าง เพราะปาณาติบาต
เป็นปัจจัย; ภัยเวรนั้นๆ เป็นสิ่งที่อริยสาวกผู้เว้นขาดแล้ว
จากปาณาติบาต ทำให้สงบรำงับได้แล้ว.

(๒) คหบดี ! บุคคลผู้ถือเอาสิ่งของที่เขาไม่ได้
ให้อยู่เป็นปกติ ย่อมประสพภัยเวรใดในทิฏฐธรรมบ้าง,
ย่อมประสพภัยเวรใดในสัมปรายิกบ้าง, ย่อมเสวยทุกขโทมนัส
แห่งจิตบ้าง เพราะอทินนาทานเป็นปัจจัย; ภัยเวรนั้นๆ
เป็นสิ่งที่อริยสาวกผู้เว้นขาดแล้วจากอทินนาทาน ทำให้
สงบรำงับได้แล้ว.

(๓) คหบดี ! บุคคลผู้ประพฤติผิดในกามทั้งหลาย
อยู่เป็นปกติ ย่อมประสพภัยเวรใดในทิฏฐธรรมบ้าง, ย่อม
ประสพภัยเวรใดในสัมปรายิกบ้าง, ย่อมเสวยทุกขโทมนัส
แห่งจิตบ้าง, เพราะกาเมสุมิจฉาจารเป็นปัจจัย; ภัยเวรนั้นๆ
เป็นสิ่งที่อริยสาวกผู้เว้นขาดแล้วจากกาเมสุมิจฉาจาร
ทำให้สงบรำงับได้แล้ว.

(๔) คหบดี ! บุคคลผู้กล่าวคำเท็จอยู่เป็นปกติ
ย่อมประสพภัยเวรใดในทิฏฐธรรมบ้าง, ย่อมประสพภัยเวร
ใดในสัมปรายิกบ้าง, ย่อมเสวยทุกขโทมนัสแห่งจิตบ้าง
เพราะมุสาวาทเป็นปัจจัย; ภัยเวรนั้นๆ เป็นสิ่งที่อริยสาวก
ผู้เว้นขาดแล้วจากมุสาวาท ทำให้สงบรำงับได้แล้ว.

(๕) คหบดี ! บุคคลผู้ดื่มสุราและเมรัยอันเป็น
ที่ตั้งของความประมาทอยู่เป็นปกติ ย่อมประสพภัยเวร
ใดในทิฏฐธรรมบ้าง, ย่อมประสพภัยเวรใดในสัมปรายิกบ้าง,
ย่อมเสวยทุกขโทมนัสแห่งจิตบ้าง, เพราะสุราและเมรัย
เป็นปัจจัย ภัยเวรนั้นๆ เป็นสิ่งที่อริยสาวกผู้เว้นขาดแล้ว
จากสุราและเมรัย ทำให้สงบรำงับได้แล้ว.

คหบดี ! ภัยเวร ๕ ประการเหล่านี้แล อัน
อริยสาวกทำให้สงบรำงับได้แล้ว.
…… … …
คหบดี ! อริยสาวก เป็นผู้ประกอบพร้อมแล้ว
ด้วย องค์แห่งโสดาบัน ๔ ประการ เหล่าไหนเล่า ?

(๑) คหบดี ! อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้
ประกอบพร้อมแล้ว ด้วยความเลื่อมใสอันหยั่งลงมั่น
ไม่หวั่นไหว ในพระพุทธเจ้า ว่า “เพราะเหตุอย่างนี้ๆ
พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้
โดยพระองค์เอง เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เป็น
ผู้ไปแล้วด้วยดี เป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง เป็นผู้สามารถ
ฝึกคนที่ควรฝึกได้อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า เป็นครูของเทวดา
และมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ด้วยธรรม
เป็นผู้มีความจำเริญ จำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์” ดังนี้.

(๒) คหบดี ! อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้
ประกอบพร้อมแล้ว ด้วยความเลื่อมใสอันหยั่งลงมั่น
ไม่หวั่นไหว ในพระธรรม ว่า “พระธรรม เป็นสิ่งที่พระผู้มี
พระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว เป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติ
พึงเห็นได้ด้วยตนเอง เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ และให้ผลได้
ไม่จำกัดกาล เป็นสิ่งที่ควรกล่าวกะผู้อื่นว่าท่านจงมาดูเถิด
เป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว เป็นสิ่งที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน”
ดังนี้.

(๓) คหบดี ! อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้
ประกอบพร้อมแล้ว ด้วยความเลื่อมใสอันหยั่งลงมั่น
ไม่หวั่นไหว ในพระสงฆ์ ว่า “สงฆ์สาวกของพระผู้มี
พระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติตรงแล้ว
เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์แล้ว
เป็นผู้ปฏิบัติสมควรแล้ว ได้แก่บุคคลเหล่านี้ คือ คู่แห่ง
บุรุษสี่คู่ นับเรียงตัวได้แปดบุรุษ นั่นแหละ คือ สงฆ์สาวก
ของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นสงฆ์ควรแก่สักการะที่เขานำ
มาบูชา เป็นสงฆ์ควรแก่สักการะที่เขาจัดไว้ต้อนรับ เป็น
สงฆ์ควรรับทักษิณาทาน เป็นสงฆ์ที่บุคคลทั่วไปจะพึงทำ
อัญชลี เป็นสงฆ์ที่เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า”
ดังนี้.

(๔) คหบดี ! อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้
ประกอบพร้อมแล้ว ด้วยศีลทั้งหลายในลักษณะเป็นที่
พอใจของพระอริยเจ้า : เป็นศีลที่ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง
ไม่พร้อย เป็นศีลที่เป็นไทจากตัณหา วิญญูชนสรรเสริญ
ไม่ถูกทิฏฐิลูบคลำ เป็นศีลที่เป็นไปพร้อมเพื่อสมาธิ ดังนี้.
คหบดี ! อริยสาวก เป็นผู้ประกอบพร้อมแล้ว
ด้วยองค์แห่งโสดาบัน ๔ ประการ เหล่านี้แล.
… … … …
คหบดี ! ก็ อริยญายธรรม เป็นสิ่งที่อริยสาวก
เห็นแล้วด้วยดี แทงตลอดแล้วด้วยดีด้วยปัญญา เป็น
อย่างไรเล่า ?

คหบดี ! อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมทำไว้
ในใจโดยแยบคาย เป็นอย่างดี ซึ่งปฏิจจสมุปบาทนั่นเทียว
ดังนี้ว่า “เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี; เพราะความเกิดขึ้น
แห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น. เพราะสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี;
เพราะความดับไปแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงดับไป : ข้อนี้ได้แก่
สิ่งเหล่านี้ คือ เพราะมีอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขารทั้งหลาย;
เพราะมีสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ; ...ฯลฯ...
...ฯลฯ... ...ฯลฯ... เพราะมีชาติเป็นปัจจัย, ชรามรณะ
โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย จึงเกิดขึ้น
ครบถ้วน : ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้
ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้.


เพราะความจางคลายดับไปโดยไม่เหลือแห่งอวิชชา
นั้นนั่นเทียว จึงมีความดับแห่งสังขาร; เพราะมีความดับ
แห่งสังขาร จึงมีความดับแห่งวิญญาณ; ...ฯลฯ... ...ฯลฯ...
...ฯลฯ... เพราะมีความดับแห่งชาตินั่นแล ชรามรณะ
โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย จึงดับสิ้น :
ความดับลงแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการ
อย่างนี้”.

คหบดี ! อริยญายธรรม(1) นี้แล เป็นธรรมที่
อริยสาวกนั้นเห็นแล้วด้วยดี แทงตลอดแล้วด้วยดีด้วย
ปัญญา.

คหบดี ! ในกาลใดแล ภัยเวร ๕ ประการ
เหล่านี้ เป็นสิ่งที่อริยสาวกทำให้สงบรำงับได้แล้วด้วย,
อริยสาวกเป็นผู้ประกอบพร้อมแล้วด้วยโสตาปัตติยังคะสี่
เหล่านี้ ด้วย, อริยญายธรรมนี้ เป็นธรรมอันอริยสาวก
เห็นแล้วด้วยดี แทงตลอดแล้วด้วยดี ด้วยปัญญาด้วย;

1. ดูคำอธิบายความหมายของคำนี้โดยละเอียดได้ในหมวด “ธรรมะแวดล้อม”
ในหัวข้อที่ ๓๑ หน้า ๑๒๙. ของหนังสือ(คู่มือโสดาบัน) หรือคลิ๊กที่เรื่องอริยญายธรรม


ในกาลนั้น อริยสาวกนั้นปรารถนาอยู่ ก็พยากรณ์ตน
ด้วยตนนั้นแหละว่า “เราเป็นผู้มีนรกสิ้นแล้ว มีกำเนิด
เดรัจฉานสิ้นแล้ว มีเปรตวิสัยสิ้นแล้ว มีอบายทุคติ
วินิบาตสิ้นแล้ว, เราเป็นผู้ถึงแล้วซึ่งกระแส (แห่งนิพพาน)
มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงแท้ต่อนิพพาน
มีการตรัสรู้พร้อมเป็นเบื้องหน้า” ดังนี้.


ทสก. อํ. ๒๔/๑๙๕-๑๙๘/๙๒.

0 ความคิดเห็น:

Post a Comment